ม.ปลาย เลือกเรียนสายไหนดีที่สุด?
ที่มาของบทความ: รุ่งโรจน์ ธัญญมนูกูล
เหมาะสำหรับ : นักเรียนในระดับ ม.ต้น ที่กำลังจะเลือกว่าจะเรียนสายอะไรดี
หมายเหตุ: ใครที่ต้องการก๊อปปี้ไปแปะที่อื่น ขอบอกว่า "ยินดี" แต่ช่วยให้เครดิตด้วยนะครับ
บทความนี้มีแรงบันดาลใจจากเมื่อ สองปีก่อน ผมได้รู้จักกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ชื่อ อาร์ม ซึ่งเป็นลูกของเจ้าของร้านโชห่วยใกล้ๆกับ อพาร์ทเมนต์ที่ผมเช่าอยู่ โดยอาร์มเป็นเด็กที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มีอยู่ถึงระดับสูงสุดเพียงชั้น ม.3 พ่อและแม่ของเค้า จะต้องหาที่เรียนที่ใหม่ให้กับลูกเพื่อที่จะเรียนต่อ ม.4 แน่นอนว่า พ่อ แม่ของเขา ต้องมาปรึกษากับผมว่า จะเรียนต่อที่ไหน และจะเรียนสายอะไรดี ผมจึงเรียกอาร์มมาคุย นี่เป็นประโยคส่วนหนึ่งที่ผมได้คุยกับอาร์ม
ผม : วางแผนไว้ว่า อนาคตอยากทำงานประมาณไหน
อาร์ม : ไม่รู้เหมือนกัน ทำอะไรก็ได้ขอให้รวยๆ
ผม : แล้วชอบเรียนทางด้านไหน เรียนคำนวณ หรือ ชอบเรียนภาษาอังกฤษมากกว่ากัน
อาร์ม : ชอบเรียนภาษาอังกฤษ แต่ไม่ชอบเรียนเลข
ผม : แล้วภาษาอังกฤษที่เราบอกว่าชอบเรียน ที่ผ่านมาตอน ม.ต้น ได้เกรดประมาณเท่าไหร่
อาร์ม : ได้ประมาณเกรด 2 บางทีก็เกรด 3
ผม : พอรู้ไหมว่า หนึ่งส่วนสอง บวกกับ หนึ่งส่วนสาม ได้เท่าไหร่......
อาร์มเงียบไปซักพัก หลังจากได้ยินคำถามสุดท้ายของผม แล้วก็ส่ายหัวด้วยสีหน้าเบื่อๆ กับคำถามคณิตศาสตร์ ระดับ ประถม ที่ผมถามเค้าไป ผมได้ไปบอกกับพ่อ แม่ของอาร์ม แล้วแนะนำว่า น่าจะเรียนสายศิลป์-คำนวณ นะครับ โดยที่ผมไม่ได้บอก เหตุผลอะไรมากนัก หลังจากนั้น พอผ่านไปได้ซักอาทิตย์หนึ่ง ผมจึงไปถามแม่ของเค้าว่า เลือกเรียนสายอะไรเหรอครับ แม่ของเค้าบอกว่า “อาร์มเลือกเรียนสายศิลป์-ภาษาจีน” เมื่อฟังคำตอบดังนั้น ผมไม่ได้พูดอะไรต่อ ได้แต่ยืนยิ้ม เพราะ ผมกำลังจะเห็นตอนจบ ของละครชีวิตเรื่องนี้ ตอนจบของละครที่ผมเห็นตลอดการ สอนหนังสือกว่า สิบปี ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนละคน คนละสถานที่ คนละเวลา แต่ตอนจบที่มักจะลงเอยเหมือนกัน
แรงบันดาลใจของบทความนี้ มีอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อตอนปลายปี 2552 ผมได้มีโอกาสไปสอนพิเศษ วิชาแคลคูลัสให้กับเด็กคณะบัญชี ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ในการสอนวันแรก ผมเริ่มจาก การทบทวนความรู้ของเก่าที่เป็น เนื้อหาของ ม.ปลาย เมื่อสอนไปได้ซักพัก มีเด็กคนหนึ่งอยู่ดีๆก็ร้องไห้ขึ้นมา แล้วก็เดินออกไปนอกห้อง พร้อมกับพูดสั้นๆว่า “หนูไม่เรียนแล้ว หนูเรียนไม่ไหว” คำพูดซึ่งสร้างความสงสัย ให้กับเพื่อนคนอื่นๆว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ผมกลับไม่สงสัย ได้แต่ยืนยิ้ม และรีบบอกกลับไปว่า “น้องครับ เราหนีเลขมาเป็นสิบๆปี คราวนี้เราก็จะหนีมันอีกหรือ” นักศึกษาคนนั้น ไม่ได้พูดอะไร ได้แต่เดินก้มหน้า ออกไปจากห้องอย่างเงียบๆ
จากแรงบันดาลใจสองอย่างข้างต้น ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา มันอาจจะขัดใจ กับความรู้สึกของหลายๆคน แต่มาคิดในอีกแง่หนึ่ง มันอาจจะทำให้ “คนบางคน” คิดได้ก่อนที่จะเลือกสาย ที่จะเรียนในระดับ ม.ปลาย ซึ่งก่อนที่จะเริ่มบทความนี้อย่างจริงจัง และขอให้ติดตามให้จบ เพราะในตอนสุดท้าย ผมจะบอกว่า เด็กแบบไหนที่เหมาะจะเรียนสายอะไร
คณะที่เด็กสายศิลป์ภาษา ใฝ่ฝัน
ในหัวข้อนี้ ขอเจาะประเด็นสำหรับ คนที่อยากจะเข้าสายศิลป์ภาษาโดยเฉพาะ นั่นคือ สำหรับเด็กสายศิลป์ภาษา ส่วนใหญ่อยากที่จะเรียน คณะอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ และ รัฐศาสตร์ โดยเฉพาะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สำหรับนิเทศที่ธรรมศาสตร์ จะเป็นคณะสื่อสารมวลชน) ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่า คณะเหล่านี้แหละ เป็นคณะสำหรับเด็กสายศิลป์ภาษา แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย คณะที่ผมกล่าวถึง ผมอยากจะให้ทุกคนอยู่ในความเป็นจริงคือ เด็กส่วนใหญ่ เป็นเด็กสายศิลป์คำนวณ กับเด็กสายวิทย์ เดินแทบจะชนกันตาย เด็กศิลป์ภาษามีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และ นิเทศศาสตร์ แต่คณะอักษรศาสตร์ ส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กสายศิลป์ภาษาอยู่ แต่ นั่นหมายถึง “ทางของเด็กสายศิลป์ภาษากำลังถูกบีบให้แคบลง” หลายคนยังงงอยู่ว่า ที่เปิดสอบ ก็สอบภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาจีน แล้วเด็กสายศิลป์คำนวณ กับเด็กสายวิทย์เค้า มาแย่งที่นั่งได้อย่างไร?? คำถามเหล่านี้ตอบได้ง่ายมาก “เพราะเค้าก็ไปเรียนตามสถาบัน ที่เปิดสอนภาษาข้างนอกเอา ก็ได้นี่ครับ ที่ Acknowledge ยังเปิดสอนเลย” เมื่อเด็กสายอื่นๆ ไปเรียนเพิ่มเติมข้างนอกมา ประกอบกับการเลือกที่สอบ แบบใช้คณิตศาสตร์ด้วย ที่นั่งของ เด็กสายศิลป์ภาษาเพียวๆ ยิ่งน้อยลงไปอีก บางคนคิดว่า เด็กศิลป์ภาษาจะมีจุดแข็งที่เรียนภาษา มากกว่าเด็กสายอื่นๆ ความคิดนี้ ผิดไปครึ่งหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่า จะเรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน อย่างที่เด็กสายอื่นๆ ไม่เรียน แต่ในความเป็นจริง ภาษาที่สำคัญคือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งโดยเฉลี่ยเด็กสายวิทย์ก็จะเรียนได้ดีกว่า นี่คือประเด็นสำคัญ ในปีนี้ (2553) เด็กสายศิลป์ภาษา มีความโชคดีเข้ามาหน่อย เนื่องจาก ที่จุฬา เปิดรับสอบตรง สำหรับ เด็กสายภาษาอย่างเดียว สายอื่นๆ สอบไม่ได้ นับว่าเป็นการโชคดีครับ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าทิ้งภาษาอังกฤษนะครับ
และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ หากเราเลือกเรียนศิลป์ภาษาเพราะไม่ชอบเรียนเลข แต่วิชาภาษาอังกฤษเอง ก็อยู่ในลักษณะครึ่งๆกลางๆ นี่เป็นจุดที่อันตรายที่สุด เพราะ นั่นหมายถึง นอกจากเราจะไม่มีเลขไปสู้กับคนอื่นเค้า แล้ว ภาษาเราก็ยังสู้คนอื่นๆเค้าไม่ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวิชาหลักอย่างภาษาอังกฤษ แต่ในทางตรงกันข้ามแล้ว หากน้องสำรวจตัวเองว่า น้องชอบเรียนภาษามากๆ อย่างชัดเจน คำว่าชัดเจนในที่นี้คือ เกรดของภาษาอังกฤษต้องได้เกรดสี่ เสียส่วนใหญ่ เรียน ม.ต้นมา 6 เทอม ได้เกรด 4 ประมาณ 5 เทอม และรู้ด้วยว่า ตัวเองอยากทำงานด้านไหน โดยถึงแม้ว่าน้องจะชอบหรือจะเกลียดเลข ครูขอสนับสนุนให้เรียนสายศิลป์ภาษา แต่จะมีนักเรียนบางคน (ไม่ค่อยเห็น) ที่ชอบเรียนทั้งวิทย์และ ชอบเรียนทั้งภาษาอังกฤษ แนะนำว่าให้เข้าสายวิทย์ แล้วก็ไปเรียนภาษาอื่นๆเสริมเอา ไม่ว่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน หรือติวภาษาญี่ปุ่น และเมื่อขึ้น ม.5 ทางของน้อง “จะเปิดกว้างมาก”
ความจริงของเด็กสายศิลป์ภาษา ที่ต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งก็คือ ธรรมดาที่ทางก็แคบอยู่แล้ว แต่ทางยิ่งแคบลงกว่าเดิม เมื่อ ลักษณะของข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาจีน นั้น “ยากเกินกว่า ที่น้องเรียนภาษามาแค่สามปี” นี่เป็นคำพูดของอาจารย์ทีมภาษาของ Acknowledge โดยข้อสอบส่วนใหญ่จะออก อยู่บนพื้นฐานของเด็กที่เรียนภาษาที่สามมาซักประมาณ 6 ปี เป็นอย่างน้อย (ลองคิดดูเล่นๆว่า น้องเรียนภาษาอังกฤษ มาตั้งแต่เด็ก ยังทำข้อสอบ เข้ามหาวิทยาลัยกันไม่ค่อยได้เลย จริงไหม??) จากจุดนี้เอง หากน้องจะมาหวัง พึ่งกับการเรียนภาษาที่สามที่โรงเรียน ส่วนใหญ่แล้ว ทำข้อสอบออกมา ร้อยละ 90 จะได้คะแนนกันไม่ถึงครึ่ง!!! จากจุดนี้ มันทำให้เป็นการบังคับว่า น้องจะต้องเรียนภาษาที่สามเพิ่มเติม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากกำลังทรัพย์ไม่ถึง ก็จบข่าวอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เด็กนักเรียนสายศิลป์ภาษา อย่างโรงเรียนในเครือคาธอลิคที่ว่า ภาษาแข็งๆ ยังต้องไปเข้าเอแบคกันมากมาย แล้วนับภาษาอะไรกับน้องอาร์มที่กำลังจะขึ้น ม.5 แต่เรียนเรื่อง พินอิน (ภาษาจีน) ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง บวกลบเศษส่วน ของเด็กประถมยังงงๆ แต่จะต้องไปผจญภัยใต้มหาสมุทร กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยล่ะครับ
จุดมุ่งหมายสำคัญมากที่สุด
ก่อนที่จะเข้าประเด็นนี้ ขอสำเสนอสถิติของนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย YALE กันก่อน มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัย ที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆของโลกด้านกฎหมาย (ไม่ใช่กุญแจไขบ้านนะครับ) โดยทีมสำรวจ ได้ไปสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ของคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยนี้มาประมาณ 1000 คน กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังคงทำงานอยู่ตอนอายุ 60 ปี และในจำนวนนั้น มีอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเงินเก็บเลย และมีอยู่เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เกษียณการทำงานก่อนอายุ 60 ปี ในจำนวนนั้น มีอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ ที่มีฐานะมั่นคง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย สรุปง่ายๆเลย เพราะบางคนอาจจะงงๆกับตัวเลขกันอยู่ นั่นคือใน 1000 คนที่เค้าไปสำรวจมา มีอยู่ 12 คน ที่เกษียณอายุการทำงานก่อน อายุ 60 ปี และมีฐานะที่ดี สุขสบาย มันเกิดอะไรขึ้น กับคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ที่มีชื่อเสียงอย่าง YALE ?? (ย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่กุญแจไขบ้านนะครับ) ทีมสำรวจจึงไปสอบถามผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างน้อยนิด นั่นคือ คนเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เรียนไฮสคูลแล้ว และนี่คือคำพูดของคนที่ประสบความสำเร็จ..... “มหาวิทยาลัยก็คือทางผ่าน ที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของผม”
กลับเข้ามาประเด็นกันเลยครับ จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุด ในการเลือกสายเรียน ขอให้น้องที่อ่านบทความ นี้จำให้ขึ้นใจว่า เลือกสายผิด ชีวิตเปลี่ยนไปครึ่งชีวิต โดยผมจะแบ่งข้อแตกต่างออกเป็น 2 ประเด็นดังต่อไปนี้ครับ
สายเรียน กำหนด จุดมุ่งหมาย หมายถึง คนที่ยังไม่มีจุดมุ่งหมายว่า จะประกอบอาชีพอะไร จะทำงานประเภทไหน แล้วเลือกเรียนสายนั้น สายนี้ไปก่อน เดี๋ยวพอใกล้เข้ามหาวิทยาลัย ค่อยมาคิดว่าจะเรียนคณะอะไร ประเด็นนี้เป็นประเด็นอันตรายมาก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย แล้วเรียนศิลป์ภาษา และเป็นประเด็นที่อันตรายที่สุด สำหรับเด็กที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย แล้วเรียนศิลป์ภาษา ด้วยความที่เกลียดเลข แต่ภาษาอังกฤษก็ครึ่งๆกลางๆ บางคนก็หลอกตัวเองว่าชอบเรียนภาษาอังกฤษ แต่ที่ผ่านมาก็ได้เกรด 2 ซะเป็นส่วนใหญ่ (ยกตัวอย่าง อย่างเช่นอาร์ม ที่พูดถึงในตอนต้นบทความ) ที่บอกว่าอันตรายที่สุด เพราะว่า เมื่อถึงเวลาสอบจริงๆ ด้วยทางที่ถูกบีบจนแคบอยู่แล้วทำให้ มันจะไม่ได้อะไรเลย จากประสบการณ์ของผมคือ นักเรียนประเภทนี้จะไปเข้า ABAC หอการค้า หรือ ม.กรุงเทพ (เลือกเรียน ABAC จะหนักมากๆ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะเรียนไม่จบก็เพราะด้วย
เหตุผลนี้) และคณะที่เค้าเรียนก็มักจะหนีไม่พ้น นิเทศ หรือไม่ก็ บัญชี บริหาร ซ้ำร้ายกว่านั้น ก็ต้องมานั่งเรียนวิชาเลขอีกรอบ โดยเลขในระดับมหาวิทยาลัย ไม่เหมือนเลขที่หนีมาตลอดชีวิตอีกแล้ว แต่มันเป็นเลขที่ขั้นสูงกว่านั้น เช่น สถิติ หรือ แคลคูลัส เป็นต้น นี่เป็นคำตอบที่ผมพูดไป ตอนต้นๆของบทความว่า เด็กที่มานั่งเรียนพิเศษแคลคูลัสกับผม อยู่ดีๆก็ร้องไห้ แล้วลุกหนีไป เกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนั้น เป็นคำตอบที่ตัวผมเองก็รู้สึกเศร้าใจ
สำหรับเด็กที่ไม่มีจุดมุ่งหมายแต่เลือกเรียนสายศิลป์คำนวณ หรือเรียนสายวิทย์ผมมองว่า ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะถึงแม้ว่า ตัวเองยังไม่รู้ว่า อยากทำงานทางด้านอะไร แต่ทางของพวกเค้าเหล่านั้น ยังคงเปิดกว้างอยู่พอสมควร จากคณะที่เค้าสามารถเลือกสอบ ได้หลากหลาย โดยทางที่จะเปิดกว้างมากที่สุดคือ เด็กสายวิทย์ ที่สามารถเลือกเรียน ได้ในเกือบทุกๆคณะที่มหาวิทยาลัย ในเมืองไทยเปิดขึ้นมา และนี่ก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำไมผมถึง บอกให้อาร์มเลือกสายศิลป์คำนวณ เพราะเค้ากำลังอยู่ในจุดที่อันตรายที่สุดนั่นเอง
แต่ก็อยากจะเตือนไว้อย่างหนึ่งคือ คำว่าจุดมุ่งหมายชัดเจนที่ว่านี้ หมายถึง คำว่าอยากเป็นนะครับ ไม่ใช่อยากเข้า เช่นน้องๆบางคนบอกว่า หนูอยากเรียนอักษร เป้าหมายชัดเจนแน่นอน แต่พอถามกลับไปว่า จะไปทำอาชีพอะไร แล้วตอบไม่ได้ ผมกำลังจะบอกว่า สิ่งที่น้องคิดว่า น้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจน มันไม่ใช่แล้วครับ อันนี้ยังคงอยู่ในประเด็นของ เป้าหมายคลุมเครือ ย้ำว่า “คำว่าจุดมุ่งหมายชัดเจน คือ ต้องตอบได้ว่า อยากจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับอะไร” ไม่ใช่ว่า อยากเรียนคณะอะไรนะครับ!!!!
เป็นโศกนาฏกรรมของการศึกษา ในประเทศไทยอย่างหนึ่งคือ มีครูแนะแนว แต่ไปแนะแนวกันในช่วง ม.ปลาย ทั้งๆที่ การแนะแนว สำคัญที่สุด ในระดับชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 ซึ่งผมจำได้ว่า ในสมัย ม.ต้น วิชาแนะแนว เป็นวิชาที่พวกผมจะนั่งเล่นกัน ครูเข้าบ้าง ไม่เข้าบ้าง ซึ่งในตอนนั้น ผมยังเข้าใจว่า วิชาแนะแนว คือ ช่วงเวลาของการพักผ่อน สำหรับบางโรงเรียนที่มีการแนะแนวอย่างจริงจัง ครูมักจะแนะแนวว่า คณะนั้น คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง วิชาอะไรบ้าง แต่ผมมองว่าเป็นการแนะแนวที่ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก เพราะท้ายสุด นักเรียนส่วนใหญ่จะไม่เห็นภาพอยู่ดี ในความคิดผม การแนะแนว คือการเชิญให้บุคคลที่อยู่ในอาชีพนั้นๆ อย่างแท้จริง มาพูดว่า “งานของเค้าเป็นอย่างไร ทำอะไรบ้าง การทำงานของเค้าเจออะไรมาบ้าง???” มากกว่า วันนี้เอาแพทย์มาพูด อีกวันเอาวิศวะมาพูด อีกวันเอาสถาปนิคมาพูด อีกวันเอาแอร์โฮสเตจมาพูด อีกวันเอาทูตมาพูด (:ไม่ใช่ยมทูตนะครับ:) รับรองว่าเด็กเห็นภาพแน่นอน แต่ในชีวิตผม ยังไม่เคยเห็นโรงเรียนไหน ทำกันแบบนั้นเลย เพราะอะไร???? ไม่ต้องคิดมากครับ เพราะโรงเรียนทุกโรงเรียนมองว่า เสียเงิน เสียทอง เสียเวลา โดยใช่เหตุ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่า มันสำคัญสุดๆๆ ที่มันจะทำให้เด็กนักเรียนเห็นภาพ แล้วเค้าจะคิดด้วยตัวเองว่า จริตของเค้าเหมาะไหม กับงานแบบนี้??? หากผู้บริหารโรงเรียนมาอ่านตรงส่วนนี้ ผมอยากจะบอกกับท่านๆว่า “ลองลงทุน กับวิถีชีวิตของเด็กๆหน่อยเถอะครับ”
จุดมุ่งหมาย กำหนด สายเรียน หัวข้อนี้เป็นหัวข้อง่ายๆแล้วครับ ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย ลองนึกดูว่า หากตอนที่เราอยู่ ม.3 แล้วเรามีเป้าหมายชัดเจนเช่นว่า อยากเป็นแอร์โฮสเตจ มันง่ายมากเลยใช่ไหม ที่เราไม่ต้องมานั่งคิดเลยว่าเราจะเรียนสายอะไรดี?? แล้วมันก็ง่ายมากเลยที่ไม่ต้องมานั่งค้นหาในกูเกิ้ล เพื่อมานั่งอ่านบทความยาวๆนี้ เพราะเมื่อเรารู้ว่าเราอยากเป็นอะไร มันจะมีเส้นทางให้เราเกิดขึ้นมาในหัวสมองทันที นั่นคือ อยากเป็นแอร์โฮสเตจ ต้องเรียนสายศิลป์ภาษา เข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ แล้วก็ไปสมัครเป็นแอร์ แล้วก็ จบ... หรือไม่อยากเป็น หมอ ต้องเรียนสายวิทย์ เข้าเรียนแพทย์ศาสตร์ แล้วก็ จบ.... อยากเป็นตำรวจ ต้องเรียน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แล้วก็ จับ เอ๊ย จบๆ (บทความนี้ปล่อยมุขเยอะกว่า บทความอื่นๆนะครับ) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าน้องๆจะมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แต่น้องจะต้องประเมินตัวเองด้วยนะครับ เช่นอยากเป็นแอร์ แต่ความสูงไม่ถึง เรียนภาษาอังกฤษอย่างคงเส้นคงว่าคือ ได้เกรดหนึ่งมาโดยตลอด เรียนจีนมาตั้งแต่เด็กพูดได้แต่อ่านไม่ออก เลขก็ได้เกรด ศูนย์บ้างหนึ่งบ้าง ผมแนะนำว่า ไปสายอาชีพดีกว่าครับ พอจะเห็นภาพอะไรบ้างไหม ว่า จุดมุ่งหมาย สำคัญจริงๆ ผมอยากจะแนะนำผู้ปกครองหลายๆท่าน ที่บังเอิญได้เข้ามาอ่านบทความนี้ (ต้องขอบคุณกูเกิ้ลอีกรอบ) นั่นคือ หมั่นเล่าเรื่องราวของอาชีพสาขาต่างๆ ให้ลูกๆฟังตั้งแต่ยังเด็กๆ (ครูแนะแนว ไม่ทำงาน ท่านก็ทำงานเองได้ แถมทำได้ดีกว่าอีกด้วย) เพราะนั่นหมายถึง จะทำให้ลูกๆหลานๆ มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าเค้าจะเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ตามอารมณ์ แต่มันก็เป็นสิ่งฝังหัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้ซักวัน เค้าจะฉุกคิดด้วยตัวเค้าเองว่า “เราอยากเป็นอะไรกันแน่?”
สรุป
ประเด็นแรก หากมีจุดมุ่งหมายชัดเจน อย่าใช้คำว่า “น่าจะอยากเป็น” ย้ำนะครับว่าต้องชัดเจน ประเมินตัวเองแล้วก็เลือกสายไปตาม จุดมุ่งหมายนั้นๆ จะทำให้ง่ายขึ้นมาก เพราะเราจะรู้ว่า เราจะต้องเน้นอะไร ไม่เน้นอะไร
ประเด็นที่สอง หากมีจุดมุ่งหมายไม่ชัดเจน (ไอ้นั่นก็ได้ ไอ้นี่ก็ไหว เอ๊ะ หรือว่าเอาอันนี้ดีกว่า) แต่ชอบเรียนภาษามาก (ดูที่เกรดด้วยนะครับ) ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบเลข ขอแนะว่าให้เรียน สายศิลป์คำนวณครับ แล้วก็อาจจะไปเสริมเรียนภาษาที่สาม ไม่ว่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น หรือ ภาษาเยอรมันเอา อีกกรณีหนึ่ง คือ เรียนภาษาพอได้ (เกรดสองบ้าง สามบ้าง) แต่ก็ไม่ชอบเรียนเลข ฝืนครับ ฝืนที่จะเข้าสายศิลป์ คำนวณ เช่นกัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ชอบเรียนเลข แต่ มันทำให้ทางของเราเปิดกว้างมากกว่า ครับ อีกกรณีหนึ่ง คือ ไม่ชอบเรียนทั้งสองอย่างเลย (เกรดหนึ่ง ไม่เกินสอง ทั้งสองวิชา) อันนี้อย่าฝืนเรียนสายสามัญครับ ให้ไปเรียนสายอาชีพดีกว่า อีกกรณีหนึ่ง คือ ภาษาพอได้ เลขพอได้ (ได้ เกรด สอง ถึง สาม ทั้งสองวิชา) แนะนำว่าให้เรียนสายศิลป์คำนวณ กันแบบไม่ต้องฝืน และหากภาษาไม่ไหว แต่เลขพอได้ ก็แนะนำให้เรียนสายศิลป์คำนวณ เช่นกัน ประเด็นสุดท้ายคือ หากชอบเลขมากๆ (เกรดสี่ เป็นส่วนใหญ่) แนะนำว่าให้เรียนสายวิทย์ไปเลยครับ จะเห็นได้ว่า ในประเด็นที่สองนี้ หากไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนแล้วล่ะก็ ผมไม่อยากจะให้เรียนสายศิลป์ภาษาเลยครับ การเรียนสายศิลป์ภาษา เหมาะกับเด็กที่มีองค์ประกอบ ทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน นั่นคือ จุดมุ่งหมายชัดเจน และชอบภาษาจริงๆเท่านั้น เพราะถึงแม้ทางจะแคบ แต่เอาตัวรอดได้แน่นอนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น